วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

9#ส่งเสริมเกษตรกรเครือข่าย ทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตปลอดภัย ได้คุณภาพสูง

ส่งเสริมเกษตรกรเครือข่าย ทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตปลอดภัย ได้คุณภาพสูง


ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ความสำคัญในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเชื่อว่า หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ ย่อมทำให้พืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตจากผืนดินนั้น มีความอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย การทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืชและวัชพืช และไม่มีการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด แม้ว่าอาจจะส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่าผลผลิตมีคุณภาพสูงและปลอดภัยกับสุขภาพ

นายประวิทย์ สวรรคทัต เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ กล่าวว่า ปัญหาทั่วไปของศูนย์ฯเขาชะงุ้ม คือบริเวณรอบศูนย์ฯเป็นดินลูกรัง ซึ่งทำประโยชน์อะไรไม่ค่อยดี ทางศูนย์ฯได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงดินแล้วก็ปุ๋ยหมัก วิธีการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักต่างๆ เพื่อจะทำให้ดินลูกรังมีคุณสมบัติดีขึ้นโครงสร้างของดินจะได้มีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น แนวทางของศูนย์ฯที่เกษตรกรได้เข้าไปเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษหรือการปรับปรุงดิน อีกอย่างคือทางศูนย์ฯจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าเพราะเป็นอันตรายกับเกษตรกรทั่วๆไป แต่จะแนะนำให้เปลี่ยนมาทำปุ๋ยหมัก เช่น พด.1 พด.2 พด.6 และพด.7 เพื่อจะลดการใช้สารเคมีให้กับเกษตรกร ลดต้นทุน เพื่อจะให้เกษตรกรนำตัวอย่างของทางศูนย์ฯ เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดินและการปรับปรุงดินเพราะว่าหญ้าแฝกมีประโยชน์อย่างมากมาย ควบคุมความชื้นในดินได้ รากของหญ้าแฝกจะหยั่งลงลึกเพื่อจะไปยึดไม่ให้ดินพังทลายได้ การที่เกษตรกร เช่น นางประเสริฐ จีนตุ้ม ได้นำวิธีปฏิบัติของทางศูนย์ฯมาใช้ในชีวิตประจำวันถือเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นได้เป็นอย่างดี ความสำเร็จของเกษตรกร ที่ได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถจะเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่นำพาเกษตรกรรายอื่นๆ หันมาทำเกษตรที่ปลอดจากสารเคมี เพื่อดินที่ดี ผลผลิตที่ดี และรายได้ที่ดีขึ้นตามลำดับ

นางประเสริฐ จีนตุ้ม ประธานกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม กล่าวว่า สมัยก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะปลูกมันทั้งแปลง ปลูกอ้อยก็เป็นอ้อยทั้งแปลงเพราะว่าใช้ปุ๋ยเคมีแล้วก็ใช้ยาฆ่าแมลงอย่างหนักเพราะต้องการผลผลิตสูงๆ พอได้ผลผลิตสูงๆแล้วไม่ได้ยอดเงินตามเป้าหมายที่ต้องการเพราะต้องจ้างทุกอย่าง แรงงานก็ต้องจ้าง รถเข็นก็ต้องจ้าง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงก็ต้องซื้อ เลยชวนพ่อกับแม่ปรับเปลี่ยนมาเป็นปลูกพืชผสมผสานตามแนวหลักของในหลวงเศรษฐกิจพอเพียงก็ปลูกทุกอย่างในแปลงจะมีผสมผสานกันหมด ในแปลงผักจะปลูกรวมกันเป็นผัก 3 ระดับ เป็นคะน้า กวางตุ้ง ผักใบเล็กๆ ระดับที่ 2 เป็นถั่วฝักยาว แตงกวา ที่มีอายุเก็บเกี่ยวเดือนหนึ่ง และระดับที่ 3 เป็นพวกมะเขือเปราะ มะเขือยาวจะเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี เราเข้าไปเรียนรู้ในศูนย์ฯ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำที่บ้านถึงวิธีการทำปุ๋ยหมัก วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ ให้เรียนรู้การทำสารกำจัดแมลง ตนเคยไปดูแปลงผักของทางศูนย์ฯซึ่งเป็นดินลูกรังที่แย่กว่าบ้านเราอีก เขายังสามารถปลูกได้ โดยที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี คือ ใช้ปุ๋ยหมักอย่างเดียว เราก็เลยนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำแปลงของเรา.
ที่มา : https://www.thairath.co.th

8#"เศรษฐกิจใหม่"ลุยฉะเชิงเทราต้านใช้ยาฆ่าแมลง หลังพบปชช.ตายด้วยโรคมะเร็ง

"เศรษฐกิจใหม่"ลุยฉะเชิงเทราต้านใช้ยาฆ่าแมลง หลังพบปชช.ตายด้วยโรคมะเร็ง


รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ควงเลขาพรรค-ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เร่งติดตามงานต่อต้านการใช้ยาฆ่าหญ้าหลังพบประชาชน 1 ใน 8 ต้องล้มตายด้วยโรคมะเร็ง เกิดจากการบริโภคพืชผักผลไม้ ที่สะสมดูดซึมเอาสารเคมียาฆ่าหญ้าและมาสะสมในร่างกาย พร้อมประกาศเดินหน้าทำงานตามนโยบายพรรคที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง ถึงแม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.62 นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ นายภาสกร เงินเจริญกุล เลขาธิการพรรคฯ พร้อมด้วย ดร.มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้เดินทางไปยังสำนักงานเกษตร อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้มีการอบรมเกษตรกร เพื่อให้ความรู้ในการใช้ยาฆ่าหญ้าให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด โดยหลังจากผ่านการอบรมแล้ว เกษตรกรจะต้องทำแบบทดสอบความเข้าใจในการใช้ยาอันตรายดังกล่าว และเมื่อสอบผ่าน สำนักงานเกษตรอำเภอสนามชัยเขตจึงจะออกใบอนุญาตให้เกษตรกรสามารถนำไปซื้อและใช้ยาฆ่าหญ้าได้
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ อ.สนามชัยเขต มีเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,254 ราย โดยขณะนี้ได้ทำการอบรมและสอบผ่านไปแล้ว 97 ราย ซึ่งสำนักงานเกษตร อ.สนามชัยเขต จะต้องเร่งทำการอบรมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ก่อนที่กฎหมายการบังคับใช้ยาฆ่าหญ้าจะประกาศใช้ โดยเกษตรกรที่เข้าอบรมต่างให้เหตุผลที่ยังจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นมาแทนที่ในการกำจัดวัชพืช
นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า ในฐานะที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เป็นผู้เปิดประเด็นและต่อต้านการใช้ยาฆ่าหญ้ามาโดยตลอด และถือเป็นนโยบายหนึ่งของพรรคฯ ก็คงต้องเดินหน้าหาทางแก้ไขและรณรงค์ให้เกษตรกรลด-เลิก การใช้ยาฆ่าหญ้ากันต่อไป
จากนั้นคณะ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้เดินทางต่อไปยัง ที่ทำการกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านยางแดง เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องเกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านยางแดง ซึ่งมีสมาชิกกว่า 500 ครัวเรือน ที่ไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาดในการทำการเกษตร หรือการทำเกษตรอินทรีย์ 100% นั่นเอง ซึ่งผลการปลูกพืชผักผลไม้ในพื้นที่ ก็ถือว่าได้ผลผลิตเป็นที่พอใจ พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และช่วยส่งเสริมด้านการตลาดของกลุ่มอีกด้วย ซึ่งหากพบว่าสมาชิกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านยางแดงคนไหนแอบใช้สารเคมี ก็จะถูกให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มทันที.
ที่มา : https://www.thairath.co.th

7#เถียง​กัน​ไม่​จบ​ผล​กระทบ​สาร​พารา​ค​วอ​ต

เถียง​กัน​ไม่​จบ​ผล​กระทบ​สาร​พารา​ค​วอ​ต


นาย​อุทัย นพคุณ​วงศ์ รอง​อธิบดี​กรม​วิชาการ​เกษตร กล่าว​ว่า หลังจาก​คณะ​กรรมการ​ขับเคลื่อน​ปัญหา​การ​ใช้​สาร​เคมี​ป้องกัน​กำจัด​ศัตรู​พืช​ที่​มี​ความ​เสี่ยง​สูง มี​มติ​เห็น​ชอบ​ให้​ยกเลิก​การ​ใช้​สาร​เคมี​กำจัด​ศัตรู​พืช​และ​แมลง 2 ชนิด คือ พารา​ค​วอ​ต และ​คลอ​ร์ไพ​ริ​ฟอส ส่วนไกลโฟเซต สั่ง​ให้​มี​ควบคุม​การ​ใช้ ภายใน​สิ้น​เดือน ธ.ค.2562 นั้น ได้​มี​การ​แต่งตั้ง​อนุกรรมการ​เฉพาะกิจ​พิจารณา​ควบคุม​วัตถุ​อันตราย​พารา​ค​วอ​ต คลอ​ร์ไพ​ริ​ฟอส และ​ไกล​โฟ​เซต ขึ้น​เพื่อ​หา​ข้อเท็จจริง​ด้าน​ผล​กระทบ​จาก​สาร​เคมี ซึ่ง​ปัจจุบัน​กำลัง​สรุป​ข้อมูล​จาก​ผู้​ที่​เกี่ยวข้อง​ทั้ง​ฝ่าย​ที่​เห็น​ด้วย​และ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​การ​แบน​สาร​เคมี​ดัง​กล่าว​ภายใน​เดือน เม.ย.2561 เพื่อ​ยื่น​เสนอ​คณะ​กรรมการ​ขับเคลื่อน​ปัญหา​การ​ใช้​สาร​เคมี​ป้องกัน​กำจัด​ศัตรู​พืช​ที่​มี​ความ​เสี่ยง​สูง​ใน​เดือน พ.ค.2561 พิจารณา​ว่า​จะ​มี​มติ​ยกเลิก​การ​ใช้​สาร​เคมี​พารา​ค​วอ​ต​และ​ไกล​โฟ​เซต​หรือ​ไม่
“ข้อมูล​ผู้​ที่​ต้องการ​ใช้​พารา​ค​วอ​ต อ้าง​ว่าเดิม​ราคา​พารา​ค​วอ​ตอ​ยู่​ที่ 380 บาท​ต่อ​แกลลอน พอ​มี​ข่าว​จะ​แบน​สาร​เคมี​ก็​มี​การ​กักตุน​ราคา​เพิ่ม​กว่า 60% ซึ่ง​กระทบ​ต่อ​ต้นทุน​เกษตรกร​รายย่อย จำนวน​มาก โดยเฉพาะ​พืช​เศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ ยางพารา อ้อย มัน​สำปะหลัง ปาล์ม​น้ำมัน ข้าวโพด​เลี้ยง​สัตว์ และ​ข้าวโพด​หวาน”
สำหรับ​ข้อมูล​ฝ่าย​ที่​ต้องการ​แบน​ระบุ​ว่า พารา​ค​วอ​ต​มี​ผล​ต่อ​โรค​พาร์​กิน​สัน​ใน​ทารก​ที่​อยู่​ใน​ครรภ์ และ​มี​ผล​ต่อ​โรค​เนื้อ​เน่า​นั้น​ยัง​ไม่​มี​ผล​วิจัย​ระบุ​ถึง​อันตราย​ชัดเจน ขณะ​ที่​สาร​เคมี​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​เทียบเท่า​พารา​ค​วอ​ต​ซึ่ง​จะ​นำ​มา​ใช้​ทดแทน​ปัจจุบัน​ยัง​ไม่​มี อย่างไรก็ตาม​ หาก​ไม่​มี​การ​แบน​พารา​ค​วอ​ต กรม​วิชาการ​เกษตร​เตรียม​เสนอ​มาตรการ​ควบคุม​ไว้​แล้ว อาทิ กำหนด​ให้​จำหน่าย​ใน​ร้าน​จำหน่าย​ปัจจัย​การ​ผลิต​ทางการ​เกษตร​ที่​มี​คุณภาพ เป็นต้น.
ที่มา : https://www.thairath.co.th

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

6#จำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร จะซื้อจะขาย ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ

จำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร จะซื้อจะขาย ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ


ในที่สุดร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซส และ คลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้กรมวิชาการเกษตร ไปทำการยกร่างฯ ได้คลอดออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นกันแล้ว
แต่คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะเห็นชอบกับที่จะนำมาใช้ด้วยหรือไม่ ยังเป็นที่ต้องรอกันอีกต่อไป
สรุปสาระสำคัญของร่างฉบับนี้...ได้แยก พาราควอต ไกลโฟเซส และคลอร์ไพริฟอส ให้เป็นสารชนิดพิเศษ ที่แยกออกมาจากสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นๆ และต้องจัดพื้นที่วางขายแยกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่นๆให้เห็นชัดเจน
คนซื้อ คนขาย ร้านค้า คนนำไปใช้ คนรับจ้างพ่น รวมทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า นอกจากจะต้องขออนุญาตพิเศษแล้ว ยังต้องผ่านการอบรม และต้องอบรมทุกๆ 2 ปี
จะไม่สามารถซื้อขายกันได้แบบง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา
ที่สำคัญ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต และ ไกลโฟเซส จะใช้ได้เฉพาะกับพืช 6 ชนิด อ้อย, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด และ ไม้ผล ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น
ส่วนสารกำจัดแมลงศัตรูพืช คลอร์ไพริฟอส ให้ใช้ได้เฉพาะ ไม้ผล ไม้ดอก และ พืชไร่
สารทั้ง 3 ชนิด ห้ามนำไปใช้ในแปลงปลูกผัก พืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ
ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด อบต. เป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบการใช้วัตถุอันตราย ทุกอย่างมีผลบังคับใช้ในระยะเวลา 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หลังจากที่ได้เห็นร่างฯที่ออกมา ฟากฝั่งเกษตรกรให้ความเห็นติงในเรื่องกรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 20 ล้านราย ในระยะเวลา 90 วันคงเป็นไปไม่ได้ จึงเสนอให้กรมวิชาการเกษตรขยายเวลาออกไป เพราะหากบังคับใช้มาแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ เกษตรกรจะมีความผิด
นอกจากนั้น การแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัด อบต. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบนั้น บางคนอาจขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ซ้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง หน้าที่นี้จึงสมควรเป็นของบุคลากรกระทรวงเกษตรฯเอง อาทิ เกษตรตำบล เพราะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี
สำคัญที่สุดเรื่องราคา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา หลังกลุ่มเอ็นจีโอมีการขับเคลื่อนให้แบนสารเคมี 3 ชนิด ส่งผลให้สารเคมีดังกล่าวมีราคาแพงขึ้นมาตลอด ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงขึ้น สูญเสียรายได้ไปปีละ 1,500 ล้านบาท จึงเสนอให้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุมราคา.

ที่มา : https://www.thairath.co.th

5#สารเคมีในชีวิตประจำวันที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง!

สารเคมีในชีวิตประจำวันที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง!

จากการศึกษาของ Winthrop University Hospital and Kaiser Permanente Southern California พบว่า แม่ท้องที่มีระดับของสารเคมีพลาสติก (Bisphenol A หรือ BPA) ในโลหิตสูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะคลอดก่อนกำหนด
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Ramkumar Menon มหาวิทยาลัย The University of Texas Medical Branch (UTMB) สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ผู้หญิงมีการสัมผัสสาร BPA อย่างต่อเนื่อง เพราะมันใช้ในการผลิตและการเคลือบผิวของภาชนะบรรจุอาหารและมันสามารถปนเปื้อนลงไปในอาหารได้ เมื่อได้รับความร้อนจากเตาไมโครเวฟ หรือแหล่งความร้อนอื่นๆ”
และยังบอกเพิ่มเติมว่า “ในความเป็นจริง BPA ใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้หญิงเกือบทุกคนสัมผัสสารนี้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่มีสารเหล่านี้อย่างแพร่หลาย และผลการวิจัยของเราที่พบว่า ผู้ป่วยทุกรายมีระดับของการสัมผัส ชี้ให้เห็นว่า การสัมผัสกับพลาสติกที่มีสาร BPA เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก”
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบอีกว่า การวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากหญิงตั้งครรภ์เมื่อพวกเขาได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อทำการคลอดบุตร และจากน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ที่เก็บรวบรวมในการคลอด พบระดับความเข้มข้นของสาร BPA เพิ่มขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Maternal-Fetal and Neonatal Medicine
สารเคมีอีก 3 ชนิดที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงตั้งครรภ์
1. สารพาทาเลต (Phthalates)
เป็นสารเคมีที่ใช้ในการเพิ่มความทนทาน ความยืดหยุ่น และความโปร่งใสของพลาสติก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นสารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ หากทารกที่อยู่ในครรภ์ หรือเกิดมาใหม่ๆ ได้รับสารชนิดนี้จะมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ทั้งชายและหญิง ทำให้เกิดรูผิดปกติที่อวัยวะเพศชาย หรือมีอัณฑะเล็ก ตัวอสุจิน้อย หรือทำให้ผู้หญิงไม่มีประจำเดือนจากรังไข่ที่ผิดปกติ
2. ยากันยุง ยาฆ่าแมลง
ยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ประกอบด้วยยาฆ่าแมลง ที่ใช้ในการทำลายระบบประสาทของแมลงและทำให้แมลงตาย คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงสารเคมีเหล่านี้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบประสาทของลูกน้อยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
3. สารไตรโคลซาน (Triclosan)
ไตรโคลซานเป็นส่วนผสมที่พบบ่อยในสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซาน และไตรโคลคาร์บาน เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในด้านพัฒนาการและการเจริญพันธุ์.
ที่มา : https://www.thairath.co.th

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

4# กระบะบรรทุกสารเคมีรั่วไฟลุก! คนขับจอดรถหนีตาย-คาดเคมีรั่วเจอความร้อนจึงปะทุ

กระบะบรรทุกสารเคมีรั่วไฟลุก! คนขับจอดรถหนีตาย-คาดเคมีรั่วเจอความร้อนจึงปะทุ

         กระบะบรรทุกเคมีน้ำหนัก 3 ตัน ไฟลุกท่วมกลางถนน คนขับวิ่งหนีตาย เผยก่อนเกิดเหตุมีน้ำรั่วออกมาจากกระบะบรรทุก จากนั้นมีควันพุ่งตามมา ก่อนจอดรถเจอไฟลุกท่วม คาดเคมีทำปฏิกิริยากับโลหะ
         (15 มี.ค. 62)  ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีเกิดเหตุระทึก เมื่อจู่ๆ มีรถกระบะโตโยต้า รีโว่ สีขาว ทะเบียน กทม. ที่บรรทุกสารเคมีHYDROGEN PEROXIDE 50% จำนวน 100 แกลลอน น้ำหนัก แกลลอนละ 30 กิโลกรัม น้ำหนักรวม 3 ตัน วิ่งมาตามถนนสุขุมวิทฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ใกล้กับสามแยกปู่เจ้าสมิงพราย ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรราการ
         โดยได้เกิดไฟลุกไหม้บริเวณช่วงท้ายกระบะที่มีหลังคาอะลูมิเนียมปิดทึบ ทำให้รถกระบะคันดังกล่าวเสียหาย และมีถังเคมี HYDROGEN PEROXIDE 50% บางส่วนเสียหาย
         เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากเทศบาลสำโรงเหนือ ใช้รถน้ำ 1คัน ฉีดน้ำสกัดประมาณ 30 นาที เพลิงจึงสงบ แต่เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นถนนสายหลัก จึงทำให้การจราจร บนถนนสุขุมวิท ติดขัดยาวกว่า 3 กิโลเมตร
         ทางเจ้าหน้าที่ จึงต้องรีบเคลื่อนย้ายรถบรรทุกเคมีดังกล่าวออกจากผิวการจราจร ไปอยู่ในที่ปลอดภัย นอกจากนี้ที่เกิดเหตุ ยังมีสารเคมีรั่วออกจากแกลลอน หยดลงบนพื้นถนน เกิดควันสีขาวเข้ม เมื่อเข้าใกล้จะมีอาการแสบ และคันที่ผิวหนังด้วย ทางเจ้าหน้าที่ฯ จึงกันบุคคลไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้าใกล้โดยเด็ดขาด
       นายเจนภพ อายุ 24 ปี คนขับรถกระบะเล่าว่า ตนรับเคมีทั้งหมดมาจาก ซอยสุขสวัสดิ์ 49 นำไปส่งลูกค้าจังหวัดจันทบุรี โดยระหว่างทาง ตนเห็นมีของเหลวไหลจากหลังคากระบะลงมาใส่กระจกหน้ารถ ซึ่งตนก็เริ่มสงสัยว่า คือ น้ำอะไร แต่ก็ยังขับรถไปต่อ แต่ขับต่อไปได้เพียงเล็กน้อยก็มีควันพุ่งออกมาจากตู้ทึบด้านหลัง ตนจึงจอดรถลงไปเปิดประตูด้านหลัง ก็มีควันพุ่งสวนออกมาอย่างแรงและเกิดเปลวไฟขึ้นมาทันที ตนจึงรีบวิ่งหนีตายออกไปจากรถ และโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ และโทรศัพท์แจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบ
       ในเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากเคมีที่รั่วออกมาทำปฏิกิริยากับโลหะและอากาศ จนเกิดความร้อนแล้วติดไฟขึ้น  อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ว่า เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ พร้อมกับจะเชิญทางผู้ว่าจ้าง และเจ้าของสารเคมีมาสอบสวน ว่าเป็นสารเคมีอันตรายหรือไม่ มีการขนส่งที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่และตรวจสอบว่า สารเคมีดังกล่าวเป็นสารเคมีอันตรายเข้าข่ายที่จะต้องแสดงสัญลักษณ์วัตถุอันตรายข้างรถหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ที่มา : https://www.sanook.com

ข้อสอบ ONET