ส่งเสริมเกษตรกรเครือข่าย ทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตปลอดภัย ได้คุณภาพสูง
ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ความสำคัญในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเชื่อว่า หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ ย่อมทำให้พืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตจากผืนดินนั้น มีความอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย การทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืชและวัชพืช และไม่มีการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด แม้ว่าอาจจะส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่าผลผลิตมีคุณภาพสูงและปลอดภัยกับสุขภาพ
นายประวิทย์ สวรรคทัต เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ กล่าวว่า ปัญหาทั่วไปของศูนย์ฯเขาชะงุ้ม คือบริเวณรอบศูนย์ฯเป็นดินลูกรัง ซึ่งทำประโยชน์อะไรไม่ค่อยดี ทางศูนย์ฯได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงดินแล้วก็ปุ๋ยหมัก วิธีการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักต่างๆ เพื่อจะทำให้ดินลูกรังมีคุณสมบัติดีขึ้นโครงสร้างของดินจะได้มีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น แนวทางของศูนย์ฯที่เกษตรกรได้เข้าไปเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษหรือการปรับปรุงดิน อีกอย่างคือทางศูนย์ฯจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าเพราะเป็นอันตรายกับเกษตรกรทั่วๆไป แต่จะแนะนำให้เปลี่ยนมาทำปุ๋ยหมัก เช่น พด.1 พด.2 พด.6 และพด.7 เพื่อจะลดการใช้สารเคมีให้กับเกษตรกร ลดต้นทุน เพื่อจะให้เกษตรกรนำตัวอย่างของทางศูนย์ฯ เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดินและการปรับปรุงดินเพราะว่าหญ้าแฝกมีประโยชน์อย่างมากมาย ควบคุมความชื้นในดินได้ รากของหญ้าแฝกจะหยั่งลงลึกเพื่อจะไปยึดไม่ให้ดินพังทลายได้ การที่เกษตรกร เช่น นางประเสริฐ จีนตุ้ม ได้นำวิธีปฏิบัติของทางศูนย์ฯมาใช้ในชีวิตประจำวันถือเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นได้เป็นอย่างดี ความสำเร็จของเกษตรกร ที่ได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถจะเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่นำพาเกษตรกรรายอื่นๆ หันมาทำเกษตรที่ปลอดจากสารเคมี เพื่อดินที่ดี ผลผลิตที่ดี และรายได้ที่ดีขึ้นตามลำดับ
นางประเสริฐ จีนตุ้ม ประธานกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม กล่าวว่า สมัยก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะปลูกมันทั้งแปลง ปลูกอ้อยก็เป็นอ้อยทั้งแปลงเพราะว่าใช้ปุ๋ยเคมีแล้วก็ใช้ยาฆ่าแมลงอย่างหนักเพราะต้องการผลผลิตสูงๆ พอได้ผลผลิตสูงๆแล้วไม่ได้ยอดเงินตามเป้าหมายที่ต้องการเพราะต้องจ้างทุกอย่าง แรงงานก็ต้องจ้าง รถเข็นก็ต้องจ้าง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงก็ต้องซื้อ เลยชวนพ่อกับแม่ปรับเปลี่ยนมาเป็นปลูกพืชผสมผสานตามแนวหลักของในหลวงเศรษฐกิจพอเพียงก็ปลูกทุกอย่างในแปลงจะมีผสมผสานกันหมด ในแปลงผักจะปลูกรวมกันเป็นผัก 3 ระดับ เป็นคะน้า กวางตุ้ง ผักใบเล็กๆ ระดับที่ 2 เป็นถั่วฝักยาว แตงกวา ที่มีอายุเก็บเกี่ยวเดือนหนึ่ง และระดับที่ 3 เป็นพวกมะเขือเปราะ มะเขือยาวจะเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี เราเข้าไปเรียนรู้ในศูนย์ฯ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำที่บ้านถึงวิธีการทำปุ๋ยหมัก วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ ให้เรียนรู้การทำสารกำจัดแมลง ตนเคยไปดูแปลงผักของทางศูนย์ฯซึ่งเป็นดินลูกรังที่แย่กว่าบ้านเราอีก เขายังสามารถปลูกได้ โดยที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี คือ ใช้ปุ๋ยหมักอย่างเดียว เราก็เลยนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำแปลงของเรา.
ที่มา : https://www.thairath.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น